ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: รกเกาะต่ำ (Placenta previa)  (อ่าน 51 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 371
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: รกเกาะต่ำ (Placenta previa)
« เมื่อ: วันที่ 18 กรกฎาคม 2024, 21:17:43 น. »
หมอประจำบ้าน: รกเกาะต่ำ (Placenta previa)

รกเกาะต่ำ หมายถึง ภาวะที่รกเกาะอยู่ใกล้กับปากมดลูก หรือขวางปากมดลูก

พบในหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 1 ใน 200 ราย


สาเหตุ

ยังไม่ทราบแน่ชัด พบบ่อยในหญิงอายุมากกว่า 35 ปี มักพบในครรภ์หลัง (ยิ่งครรภ์หลัง ๆ ยิ่งมีโอกาสพบได้มากขึ้น) มีครรภ์แฝด มีประวัติเคยมีรกเกาะต่ำมาก่อน มีประวัติสูบบุหรี่หรือเสพโคเคน หรือมีความผิดปกติของมดลูก (เช่น มีก้อนเนื้องอกในมดลูก) หรือเคยมีประวัติการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องมาก่อน


อาการ

มีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นพัก ๆ โดยไม่มีอาการปวดเจ็บในท้องแต่อย่างใด และมดลูกนุ่มเป็นปกติ โดยมากมักจะเกิดเมื่อครรภ์ได้ 7 เดือนขึ้นไป

     ถ้าเป็นไม่มาก เลือดอาจออกเล็กน้อยและหยุดไปได้เอง และทารกสามารถคลอดตามปกติได้

     แต่ถ้ารกเกาะต่ำมากหรือขวางปากมดลูก อาจทำให้ตกเลือดมาก จนผู้ป่วยเกิดภาวะช็อกได้ หรือทารกในครรภ์ขาดออกซิเจนตายในท้องได้

     โรคนี้บางครั้งอาจแยกไม่ออกจากรกลอกตัวก่อนกำหนด


ภาวะแทรกซ้อน

มารดาอาจเกิดภาวะช็อกจากการตกเลือด หรืออาจมีโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนได้

     ทารกอาจคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย หรือเสียเลือด ทำให้มีภาวะโลหิตจาง


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจอัลตราซาวนด์


การรักษาโดยแพทย์

ถ้าเลือดออกไม่มาก แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักในโรงพยาบาลจนกว่าเลือดจะหยุด หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยกลับบ้าน และนัดมาตรวจอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งเด็กคลอด ในกรณีนี้อาจคลอดตามธรรมชาติได้ แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

     ถ้าเลือดออกมาก อาจต้องให้เลือด และทำการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น หญิงตั้งครรภ์มีอาการเลือดออกทางช่องคลอดเป็นพัก ๆ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

           เมื่อตรวจพบว่าเป็นรกเกาะต่ำ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    พักผ่อนให้มาก ๆ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เลือดออก เช่น การออกกำลังกาย การมีเพศสัมพันธ์

       
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีเลือดออกทางช่องคลอดกำเริบขึ้นอีก
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ลงด้วยการไม่สูบบุหรี่และไม่เสพโคเคน

         ควรป้องกันไม่ให้อาการรุนแรง โดยการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่น่าสงสัย และผู้ที่เคยมีประวัติเกิดภาวะนี้มาก่อน เมื่อตั้งครรภ์ครั้งใหม่ควรไปฝากครรภ์กับแพทย์แต่เนิ่น ๆ


ข้อแนะนำ

ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกทางช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์ทุกราย เพราะอาจเกิดจากแท้งบุตร รกเกาะต่ำหรือรกลอกตัวก่อนกำหนดได้

  ควรรีบไปพบแพทย์ทุกรายเพราะอาจเกิดจากรกเกาะต่ำหรือรกลอกตัวก่อนกำหนดได้