ผู้เขียน หัวข้อ: มายืดอายุดอกไม้ด้วยวิธีเก็บดอกไม้สด ดอกบัวอบแห้ง สุดง่าย ใช้งานได้จริง  (อ่าน 93 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 370
    • ดูรายละเอียด
มายืดอายุดอกไม้ด้วยวิธีเก็บดอกไม้สด ดอกบัวอบแห้ง สุดง่าย ใช้งานได้จริง

หากคุณอยากแต่งบ้านด้วยดอกไม้สด คุณควรมีทริควิธีเก็บดอกไม้สด เพราะถ้าคุณแค่นำดอกไม้ใส่แจกันแล้วไปตั้ง ไม่กี่วันก็ต้องเอาไปทิ้งแล้วจัดดอกไม้ชุดใหม่มาใส่แทน ใช้ทั้งเวลาและเงิน จะตัดปัญหาด้วยดอกไม้ปลอม ก็ดูไม่สวยงามและไม่มีกลิ่นหอมเหมือนของจริง เชื่อเราเถอะ ว่าปัญหานี้มีทางออก

ทำไมดอกไม้เหี่ยว

เมื่อเราตัดดอกไม้ออกมาจากต้น ก็เท่ากับเราทำให้ดอกไม้ขาดน้ำและสารอาหารที่ปกติแล้วรากของต้นไม้จะดูดขึ้นมาจากดินและลำเลียงผ่านท่อไปยังส่วนต่างๆ เซลล์ของดอกไม้จึงแห้ง อ่อนตัว และไม่เต่งตึง ทำให้ดอกไม้เหี่ยวเฉาในที่สุด

แต่ยังไม่หมดแค่นั้น แบคทีเรียมักเจริญเติบโตบนผิวของก้านดอกไม้ตรงจุดที่ถูกตัด ทำให้บริเวณก้านดอกไม้และเซลล์ข้างในเน่าจนไม่สามารถส่งน้ำไปยังดอกไม้ได้ ก้านที่เน่าและแช่อยู่ในน้ำยังทำให้น้ำเน่าตามไปด้วย

5 วิธีเก็บดอกไม้ให้สดไปนานๆ

การจะทำให้ดอกไม้สดที่ตกแต่งบ้านคงความสวยคู่บ้านคุณไปนานๆ ทุกขั้นตอนมีเคล็ดลับที่คุณอาจคิดไม่ถึง เริ่มตั้งแต่การสรรหาดอกไม้ การจัดดอกไม้ ไปจนถึงการหาที่ตั้งในบ้านคุณ ทุกอย่างล้วนมีผลต่อความคงทนของดอกไม้สดทั้งสิ้น

1. วิธีจัดดอกไม้สดแบบลดความเสียหาย

วิธีจัดดอกไม้สดถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่แค่เอาดอกไม้มาปักๆ ก็เป็นอันเสร็จ ดอกไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่บอบบาง จึงต้องทะนุถนอมเพื่อไม่ให้บอบช้ำ

ทำความรู้จักดอกไม้

การเลือกดอกไม้มาจัดแจกันหรือตกแต่งบ้าน คุณต้องดูความสวยงามโดยรวมและความเข้ากันของดอกไม้กับพื้นที่ วิธีจัดดอกไม้สดจึงต้องเลือกขนาดและลักษณะของดอกไม้ เช่น ถ้าพื้นที่เต็มไปด้วยสิ่งของวางเต็ม เลือกดอกไม้เดี่ยวจะเหมาะกว่าช่อ สีก็เป็นเรื่องที่ต้องนึกถึงว่าคุณอยากให้กลมกลืนหรือตัดกับสีผนังและเฟอร์นิเจอร์

คุณควรเลือกดอกไม้ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม และต้องดูว่ามีใครในบ้านมีอาการแพ้เกสรดอกไม้หรือไม่ ดอกไม้บางชนิดทนความร้อนไม่ได้อย่างเช่นทิวลิป บางชนิดมีเกสรที่ร่วงหล่นติดเฟอร์นิเจอร์หรือเสื้อผ้าอย่างดอกลิลลี่ บางชนิดชอบมีผึ้งมาตอมอย่างดอกลาเวนเดอร์หรือทานตะวัน และบางชนิดมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ดอกเจอเรเนี่ยมช่วยกันยุง ดอกกล้วยไม้ฟอกอากาศ

ดอกไม้ที่หลายๆ คนเลือกใช้คือดอกกุหลาบ เพราะค่อนข้างทนและมีสีสันให้เลือกมากมาย โดยวิธีเก็บดอกกุหลาบให้คงทนต้องเลือกดอกกุหลาบที่ดี ปราศจากแมลงกัดแทะ กลีบยังไม่ม้วนงอ และลักษณะดอกที่ยังมีความแน่นและตูมอยู่

ตัดดอกไม้ต้องทำอย่างไร

ก่อนอื่นเลย คุณต้องมีกรรไกรตัดกิ่งที่คม โดยให้คุณตัดก้านดอกไม้เป็นแนวเฉียงประมาณ 45 องศา เพื่อเพิ่มพื้นผิวในการดูดน้ำ เทคนิคคือคุณควรตัดให้ขาดในครั้งเดียวและไม่ตัดย้ำๆ เพราะหากเนื้อเยื่อบริเวณก้านที่โดนตัดเกิดความเสียหาย ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการดูดน้ำเมื่อนำไปปักแจกัน

เมื่อก้านดอกไม้สัมผัสอากาศ เนื้อเยื่อบริเวณก้านที่เป็นรอยตัดจะปิด เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำและสารอาหาร คุณจึงควรนำดอกไม้จุ่มน้ำทันทีหลังตัด นี่จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่แบคทีเรียจะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่ออีกด้วย

ถ้าคุณตัดดอกไม้จากต้นไม้ในสวนหลังบ้าน ให้คุณเลือกตัดดอกไม้ตอนเช้าเพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้นไม้มีน้ำกักเก็บอยู่ในเนื้อเยื่ออย่างเต็มที่ แถมอากาศที่ไม่ร้อนยังช่วยลดการระเหยของน้ำออกจากดอกไม้ที่ตัดด้วย

คุณควรตัดดอกไม้ทีละดอก เมื่อตัดออกมาแล้วให้จุ่มไว้ในน้ำระหว่างที่ตัดดอกอื่น แต่ถ้าคุณซื้อดอกไม้สดมาจากร้านขายดอกไม้ คุณควรใช้สำลีชุบน้ำให้ชุ่มห่อที่ก้านและห่อด้วยฟอยล์อะลูมิเนียมระหว่างการเดินทาง

จัดแจกันใช้วิธีไหน

แจกันหรือภาชนะอื่นๆ ที่คุณเลือกนำมาใส่ดอกไม้ต้องคัดสรรให้เข้ากับพื้นที่และดอกไม้ที่จะนำมาใส่

– ก้านดอกไม้ควรสูงประมาณ 1.5-2 เท่าของความกว้างของแจกันทรงเตี้ย

– ก้านดอกไม้ควรสูงประมาณ 1.5-2 เท่าของความสูงของแจกันทรงสูง

นอกจากนี้ขนาดก็ต้องสมดุลกับปริมาณดอกไม้และพื้นที่ คุณไม่ควรใส่ดอกไม้สดให้แน่นเกินไปเพราะก้านจะหัก ทำให้ลำเลียงน้ำและสารอาหารจากภาชนะได้ไม่ดี ส่วนสีก็มีความสำคัญในการสร้างบรรยากาศ

เมื่อคุณได้แจกันที่เหมาะสมแล้ว ล้างแจกันของคุณด้วยน้ำยาล้างจานและน้ำอุ่น เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่จะทำให้ดอกไม้สดเหี่ยวเร็ว ยิ่งถ้าเป็นน้ำยาล้างจานสูตรยับยั้งเชื้อแบคทีเรียด้วยยิ่งดี อย่างเช่นซันไลต์แอนตี้แบค ล้างซ้ำด้วยน้ำอุ่นจนแน่ใจว่าน้ำยาล้างจานหลุดหมด

ก่อนนำดอกไม้มาปักแจกันหรือภาชนะต่างๆ ให้คุณเด็ดใบบนก้านที่จะจุ่มน้ำออกให้หมดเพื่อไม่ให้น้ำเน่า ตัดปลายก้านเป็นแนวเฉียงอีกครั้งเพื่อให้เนื้อเยื่อใหม่ดูดน้ำ โดยให้คุณทำการตัดในน้ำเพื่อไม่ให้เกิดฟองอากาศในเนื้อเยื่อที่จะไปขัดขวางการลำเลียงน้ำ

เมื่อตัดเสร็จให้นำดอกไม้สดไปใส่น้ำในแจกันหรือภาชนะทันที ถ้าจะให้ดี ควรใช้น้ำกรองแทนที่จะใช้น้ำก๊อกเพื่อเลี่ยงสารเคมีอย่างคลอรีน

2. ตั้งดอกไม้ที่ไหน ให้อยู่ยงคงกระพัน

อย่างที่เรารู้กันดีว่าสภาพแวดล้อมมีผลต่อต้นไม้โดยตรง ยิ่งถ้าเป็นดอกไม้ที่ถูกตัดออกมา ยิ่งมีความทนทานน้อยกว่าต้นไม้อีก ความร้อนและความเย็นล้วนกระตุ้นให้ดอกไม้เหี่ยวเฉา คุณจึงควรเลี่ยงที่ที่มีปัจจัยเหล่านี้

– ไม่วางแจกันดอกไม้ในที่ที่ได้รับแสงแดดหรือความร้อนโดยตรง เพราะจะทำให้ดอกไม้สูญเสียน้ำ เช่น ริมหน้าต่าง ห้องครัว

– เลี่ยงการวางแจกันดอกไม้ใกล้เครื่องปรับอากาศ พัดลม หรือพัดลมดูดอากาศ เพราะลมจะเร่งการระเหยของน้ำ

– ไม่ตั้งแจกันดอกไม้ใกล้ทีวี ตู้เย็น และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ปล่อยความร้อนออกมา

3. ผลไม้กับดอกไม้ สองเราไปด้วยกันไม่ได้

แม้จะดูสวยงามและเหมาะสมที่จะจัดแจกันดอกไม้พร้อมถาดผลไม้ไว้บนโต๊ะ แต่วิธีจัดดอกไม้สดแบบนี้ทำให้ดอกไม้เหี่ยวเร็วขึ้น

ผลไม้ที่กำลังสุกจะผลิตฮอร์โมนพืชในรูปของก๊าซที่เรียกว่าเอทิลีนออกมา เมื่อดอกไม้ได้รับฮอร์โมนนี้ก็จะเร่งให้ดอกไม้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีผลกับดอกไม้แต่ละชนิดแตกต่างกันไป เช่น ดอกคาร์เนชั่นจะเหี่ยว ดอกกล้วยไม้จะเปลี่ยนสี

ดังนั้น คุณจึงไม่ควรนำแจกันดอกไม้มาวางใกล้ผลไม้เพื่อยืดอายุไม่ให้ดอกไม้เหี่ยว โดยเฉพาะกล้วย แอปเปิ้ล มะม่วง และเมล่อน เพราะผลไม้เหล่านี้ผลิตเอทิลีนในปริมาณค่อนข้างสูง ผักก็มีการผลิตเอทีลีนด้วย อย่าง หัวหอม มะเขือเทศ นอกจากนี้ในควันบุหรี่ก็พบว่ามีเอทิลีนเช่นกัน

เชื่อหรือไม่ ถ้าคุณเติมวอดก้าสัก 2-3 หยดลงไปในน้ำที่แช่ดอกไม้ จะทำให้ดอกไม้ของคุณเหี่ยวช้าลง นี่ก็เพราะวอดก้าจะไปลดการสร้างฮอร์โมนเอทิลินที่เป็นตัวทำให้ดอกไม้เหี่ยว แต่ขอย้ำว่าอย่าใส่เยอะเกินไป เพราะดอกไม้ทนแอลกอฮอล์ได้ไม่เกิน 8 ดีกรี ซึ่งวอดก้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ถึง 40 ดีกรี จึงต้องทำให้เจือจางมากๆ

4. น้ำตาลและน้ำส้มสายชู คู่หูต่อชีวิตดอกไม้

เติมน้ำตาลและน้ำส้มสายชูใสในสัดส่วนที่เท่ากัน ประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในภาชนะ น้ำตาลจะเพิ่มสารอาหารให้กับดอกไม้ เพราะดอกไม้ในแจกันไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้เอง จึงต้องอาศัยอาหารเสริม

น้ำส้มสายชูจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย รวมทั้งปรับสภาพความเป็นกรดด่างของน้ำให้ค่อนไปทางกรด ซึ่งทำให้การลำเลียงน้ำในดอกไม้ดีขึ้น ดอกไม้จึงรับน้ำและสารอาหารได้เร็วขึ้น

ทางเลือกอื่นๆ ของวิธีเก็บดอกไม้สดแทนการใช้น้ำตาลและน้ำส้มสายชู ได้แก่ น้ำอัดลมพวกมะนาวโซดา หรือเครื่องดื่มชูกำลัง หรืออาหารดอกไม้ที่ทำมาเพื่อการเติมในแจกันโดยเฉพาะ ซึ่งคุณสามารถหาซื้อได้ตามร้านดอกไม้

5. บริการหลังการจัด สำคัญไม่แพ้กัน

ไม่ใช่แค่วิธีจัดดอกไม้สดเท่านั้นที่คุณควรใส่ใจเพื่อให้ดอกไม้อยู่กับคุณไปนานๆ แต่การดูแลหลังจากนั้นก็จำเป็นมาก โดยคุณต้องเปลี่ยนน้ำทุกวันหรือเมื่อเห็นว่าน้ำมีลักษณะขุ่นและเหนียว เพราะนั่นหมายถึงแบคทีเรียเริ่มเจริญเติบโตที่ก้านดอกไม้และในน้ำ

ทุก 2-3 วันที่คุณเปลี่ยนน้ำ คุณควรเล็มปลายก้านดอกไม้ โดยตัดในแนวเฉียง 45 องศาและทำการตัดในน้ำเหมือนตอนคุณจัดแจกันครั้งแรก เพื่อตัดเนื้อเยื่อที่ช้ำออกและเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดน้ำด้วยก้านส่วนใหม่

หากคุณพบดอกไม้ที่เหี่ยวก่อนดอกไม้อื่นๆ ในแจกัน โดยเฉพาะถ้าแจกันของคุณมีดอกไม้หลายชนิดปะปนกัน ให้คุณรีบดึงดอกที่เหี่ยวออก เพราะดอกไม้นั้นจะปล่อยฮอร์โมนเอทิลีนทำให้ดอกอื่นๆ เหี่ยวตามไปด้วย รวมถึงลดการแย่งน้ำและสารอาหารกับดอกไม้ดอกอื่น