โรคตาขี้เกียจ (Lazy eye) เป็นโรคทางสายตาที่เกิดขึ้นในเด็กเล็กอายุ 1-7 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการพัฒนาการของการมองเห็นสูงสุด โดยจะมีการมองเห็นที่ผิดปกติ อาจมองเห็นไม่ชัด พร่ามัว แต่หากได้รับการรักษาทันทีและตรงสาเหตุอาการนี้ก็สามารถที่จะรักษาให้หายได้ ในขณะเดียวกันหากปล่อยทิ้งไว้จนเกินอายุ 7 ปีขึ้นไป จะรักษายากขึ้นหรือไม่สามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นผู้ปกครองควรให้ความสนใจและหมั่นสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือไถ่ถามลูกน้อยอยู่เป็นประจำ ก็จะช่วยให้รักษาอาการตาขี้เกียจได้อย่างทันท่วงที
สาเหตุของอาการโรคตาขี้เกียจมีด้วยกันหลายประการ ดังนี้
1. อาการตาเข หรือตาเหล่ เป็นอาการที่ส่งผลให้เกิดโรคตาขี้เกียจมากที่สุด เนื่องจากเป็นอาการผิดปกติที่ชัดเจนต่อการมองเห็นมากที่สุด โดยส่วนมากพบว่า ตาข้างที่เหล่จะมีอาการตาขี้เกียจ หรือหากตาเหล่ทั้งสองข้าง ก็จะทำให้มีอาการตาขี้เกียจทั้งสองข้างเช่นกัน
2. สายตาสั้น ยาว เอียงไม่เท่ากัน เช่น กรณีที่สายตาข้างซ้ายสั้น ยาว หรือเอียง สายตาข้างขวาปกติ ก็จะทำให้สายตาข้างซ้ายมีอาการตาขี้เกียจ เนื่องจากสมองเลือกรับการมองเห็นจากสายตาข้างที่ดี จึงทำให้ข้างที่สายตาสั้นไม่ถูกใช้งาน ความสามารถในการมองเห็นจึงลดลง
3. โรคตาที่ทำให้เกิดการบดบังของการมองเห็น เช่น หนังตาตก โรคต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด โรคเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา เป็นต้น เนื่องจากการบดบังการมองเห็นทำให้ดวงตาไม่สามารถรับภาพได้เต็มที่ จึงทำให้การใช้งานลดลงจนกลายเป็นโรคตาขี้เกียจ
การวินิจฉัยตาขี้เกียจ
จักษุแพทย์จะตรวจค่าสายตาอย่างละเอียด ว่ามีระดับการมองเห็นแตกต่างกันในตาทั้งสองข้างหรือไม่ โดยการตรวจทีละตา หาว่ามีสาเหตุใดหรือไม่ ที่ทำให้การมองเห็นในตาสองข้างไม่เท่ากัน แล้วเปรียบเทียบ
การรักษาโรคตาขี้เกียจ
ผการรักษาโรคตาขี้เกียจ โดยส่วนมากจะขึ้นอยู่กับจักษุแพทย์ทางตาเด็กจะเป็นคนวางแผนการรักษาให้เด็กแต่ละคน เช่น
กระตุ้นการใช้สายตาข้างที่มีอาการ ด้วยการปิดตาข้างที่ปกติ เพื่อให้สายตาข้างที่มีอาการได้ใช้งานเพิ่มขึ้น
ใส่แว่นตาในกรณีที่สายตาสั้น ยาว เอียงไม่เท่ากัน เพื่อกระตุ้นให้สายตาข้างที่สั้น ยาว เอียง หรือข้างที่มีปัญหา มองเห็นได้ดีขึ้น จะได้เกิดการใช้งานมากขึ้น
แก้อาการของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น การผ่าตัดต้อกระจก หนังตาตก รวมถึงโรคเลือดออกในน้ำวุ้นตา
โรคตาขี้เกียจป้องกันได้แค่ตรวจเช็ค
โรคตาขี้เกียจในเด็กบางคนอาจไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน หากเป็นทารกแรกเกิดไปจนถึงวัย 6-12 เดือน พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของทารกและพบแพทย์ตามนัดการตรวจสุขภาพของเด็กอย่างสม่ำเสมอ สำหรับเด็กที่อายุระหว่าง 3-5 ปี ควรเข้ารับการตรวจวัดสายตาเป็นประจำ เพื่อการตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ในระยะเนิ่น ๆ และรักษาได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ผู้ที่สายตาหรือดวงตาเกิดความผิดปกติควรรีบพบจักษุแพทย์
เห็นได้ว่า โรคตาขี้เกียจ เป็นโรคที่ผู้คนรอบข้างไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนนัก ดังนั้นผู้ปกครองควรเอาใจใส่และหมั่นสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือไถ่ถามลูกอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกของคุณเติบโตขึ้นมาโดยมีการมองเห็นที่ปกติอย่างที่ควรจะเป็น
ดูแลสุขภาพ: Lazy Eye โรคตาขี้เกียจ อย่าเฉียดใกล้ลูกฉันเลย! อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.healthyhitech.net/