ผู้เขียน หัวข้อ: โรคเบาหวาน (Diabetes)  (อ่าน 84 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 430
    • ดูรายละเอียด
โรคเบาหวาน (Diabetes)
« เมื่อ: วันที่ 2 สิงหาคม 2024, 15:05:06 น. »
โรคเบาหวาน (Diabetes)

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายระบบ ทั้ง ฟันและเหงือก ตา ไต หัวใจ สมอง และหลอดเลือดแดง รวมทั้งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต,เศรษฐสังคม(socioeconomic effect) โดยมีการคาดการจาก International diabetes Federationว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 366 ล้านคน ในปีค.ศ.2011 เป็น 552 ล้านคน ในปีค.ศ. 2030 สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยเบาหวาน 3.5 ล้านคนและมีมูลค่าการรักษา 47,596 ล้านบาทต่อปี

ดังนั้นทุกคนควรดูแลและป้องกันโรคเบาหวานด้วยการปรับพฤติกรรมการบริโภคและออกกำลังกาย

ในกรณีที่เป็นโรคเบาหวาน การให้ความร่วมมือในการรักษาและติดตามการรักษากับแพทย์เป็นสิ่งสำคัญในการดูแล รักษาโรคเบาหวาน เพื่อที่จะได้ลดภาวะแทรกซ้อนและอยู่กับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข

 
โรคเบาหวานคืออะไร
   
เป็นกลุ่มโรคเกี่ยวกับการเผาผลาญอาหารซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง ซึ่งมีผลต่อการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย

 
ฮอร์โมนอินซูลินมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร

อินซูลินเป็นฮอร์โมนสำคัญตัวหนึ่งของร่างกาย เพราะร่างกายคนเรานั้นรับประมานอาหารเข้าไปทุกวัน มีการเปลี่ยนแป้ง , โปรตีนให้เป็นน้ำตาล หากไม่มีอินซูลิน ก็จะส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ และยังทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเช่นกัน อีกทั้งยังทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ อินซูลินสร้างและหลั่งจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อน ทำหน้าที่เป็นตัวพาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานในการดำเนินชีวิต

 
โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 4 ประเภท

    เบาหวานประเภทที่ 1 พบได้น้อย ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย ประเภทนี้เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงต้องฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดอินซูลิน และไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกิดไป เพราะอาจหมดสติ และเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน มักพบในเด็กและวัยรุ่น
    เบาหวานประเภทที่ 2 พบได้มาก ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย และส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มคนอายุ 45 ปีขึ้นไป เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินไปใช้ได้อย่างเพียงพอ และร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ประเภทนี้มักไม่อาการอย่างเฉียบพลัน แต่หากขาดการควบคุม ก็สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เป็นอันตรายอย่างเฉียบพลันได้
    เบาหวานประเภทที่ 3 เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (เบาหวานวินิจฉัยระหว่างไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยที่ไม่ได้เป็นเบาหวานก่อนหน้า)
    เบาหวานประเภทที่ 4 เป็นเบาหวานชนิดที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของสารพันธุกรรม monogenic diabetes syndromeหรือ Maturity onset diabetes of the young [MODY], จากยา , โรคของทางตับอ่อน เช่น cystic fibrosis

 
สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน

สาเหตุของโรคเบาหวานมีหลายปัจจัยร่วมกันทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม (genetic factor) และปัจจัยสิ่งแวดล้อม (environmental factor)

    กรรมพันธุ์
    น้ำหนักเกิน ความอ้วน ขาดการเคลื่อนไหว ขาดการออกกำลังกาย
    อายุที่มากขึ้น มีโอกาสเป็นเบาหวานได้มากขึ้น
    โรคของตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบ ได้รับการผ่าตัดตับอ่อน
    การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม ซึ่งมีผลต่อตับอ่อน
    ความเครียดเรื้อรัง
    การได้รับยาบางชนิด ทำให้มีการสร้างน้ำตาลมากขึ้นหรือการตอบสนองของอินซูลินได้ไม่ดี
    การตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด ซึ่งมีผลยับยั้งการทำงานของอินซูลิน

 
ใครบ้างที่เสี่ยงเบาหวาน
   
    อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป
    มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
    เป็นผู้มีน้ำหนักเกิน หรือมีดัชนีมวลกาย(Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือ ตั้งแต่ 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ในคนเอเชีย
    ความดันโลหิตสูง (ความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท)
    สตรีที่มีประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือน้ำหนักบุตรแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
    ไม่ออกกำลังกาย (physical inactivity)
    ดื่มสุรา
    สูบบุหรี่
    สตรีที่มีโรคถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic ovary syndrome)
    เคยตรวจพบ ระดับน้ำตาลสะสม Hemoglobin A1C (Hb A1C) มากกว่าหรือเท่ากับ 5.7 % , ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (Impaired fasting glucose) คือมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือด 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
    ไขมันชนิดชนิดเอชดีแอล (HDL) น้อยกว่า 35 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ ไตรกลีเซอไรด์(TG) มากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
    ผู้ป่วยที่มีประวัติประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ, หลอดเลือดสมอง

 
คุณเป็นเบาหวานหรือไม่

ตรวจว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ทำได้โดยการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และ ได้ผลดีโดยอาศัยเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้


ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน

ระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหาร (fasting plasma glucose)ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เริ่มผิดปกติ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเบาหวานเต็มขั้น ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อไม่ให้เป็นเบาหวาน

วินิจฉัยเบาหวาน

    มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหาร (fasting plasma glucose) มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
    มีอาการของโรคเบาหวาน ร่วมกับระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ตาม (Random plasma glucose) มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
    มีระดับน้ำตาลในเลือด มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ณ 2 ชั่วโมงภายหลังทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส 75 กรัมที่รับประทานเข้าไป
    มีระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5 % ขึ้นไป

 
อาการของเบาหวาน
   
    ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน
    กระหายน้ำ
    อ่อนเพลีย และน้ำหนักลด
    หิวบ่อย รับประทานเก่งขึ้น
    คันตามตัว ติดเชื้อได้ง่าย เป็นเชื้อรา ตกขาวบ่อย
    ตาพร่า เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน
    ปลายมือ ปลายเท้าชาอันเนื่องมาจากปลายประสาทเสื่อม

 
โรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
   
    ตา อาจเป็นต้อกระจกก่อนวัย จอตาเสื่อม ทำให้ตามัวลงเรื่อยๆ และอาจทำให้ตาบอดในที่สุด
    เท้า ทำให้มีอาการชาปลายมือปลายเท้า เกิดแผลได้ง่ายและ อาจก่อให้เกิดความพิการ
    ไต มักจะเสื่อม จนเกิดภาวะไตเสื่อมเรื้อรัง, โปรตีน (ไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ)
    เป็นการติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากภูมิต้านทานต่ำ
    ภาวะคีโตซีส(ketosis)ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำมาก หายใจหอบลึก มีไข้ กระวนกระวาย
    ผนังหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เป็นความดันโลหิตสูง อัมพาต หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
    เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

 
การรักษาโรคเบาหวาน
   
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งยังไม่มีทางรักษาให้ขายขาด การรักษาจึงเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงเกณฑ์ปกติให้มากที่สุด รวมถึงความดันโลหิต ไขมันในเส้นเลือด และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ในการรักษาผู้ป่วยจึงต้องพบแพทย์ตามกำหนด ติดตามอาการเป็นระยะๆ

    การรักษาแบบไม่ใช้ยา (non pharmacologic treatment)
    การรักษาแบบใช้ยา (pharmacologic treatment)

 
สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปฏิบัติ
   

    เลือกรับประทานอาหารจำพวกแป้งจากธัญพืชที่ไม่ขัดสี ในปริมาณที่พอเหมาะ
    พยายามงดอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นหวาน มัน หรือเค็ม (โซเดียมน้อยกว่า 1,500-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน)
    รับประทานผัก และผลไม้ที่ไม่หวานจัดเพื่อเพิ่มกากใยอาหาร
    ควบคุมน้ำหนัก
    งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา
    ออกกำลังกายเป็นประจำในแบบแอโรบิค (moderate intensity) วันละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ตามคำแนะนำของแพทย์ กรณีไม่มีข้อห้าม
    ระวังอย่ารับประทานยาใด ๆ เองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะยากลุ่มที่เป็นเสตียรอยด์ ยาฮอร์โมน หมั่นศึกษาหาความรู้ในการดูแลตนเอง
    ทำจิตใจให้สงบ และผ่อนคลายความเครียด ไม่โกรธ หรือโมโหง่าย
    ดูแลและตรวจเท้าทุกวัน เพื่อสำรวจแผลที่ง่ามนิ้วเท้า ฝ่าเท้า
    ดูแลสุขภาพฟัน
    ติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
    รับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต หรือเบาหวานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
    ผู้ป่วยและผู้ดูแลสังเกตอาการผิดปกติเนื่องจากภาวะน้ำตาลต่ำหรือสูงเกินไป เช่น หน้ามืด ใจสั่น หมดสติ

 
ภาวะน้ำตาลต่ำ คืออะไร
   
ภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือด น้อยกว่าหรือเท่ากับ 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร กรณีใช้ยา โดยเฉพาะกลุ่มอินซูลิน, ยารับประทานบางกลุ่ม

อาการ: หน้ามืด ใจสั่น หมดสติ แต่ในบางรายอาจจะไม่แสดงอาการได้


วิธีแก้ไขที่บ้าน

    รับประทานน้ำตาล (15-20 กรัม) ใช้ในผู้ป่วยที่รู้สึกตัว หลังจากนั้น15 นาทีให้ตรวจเลือดซ้ำ ถ้าระดับน้ำตาลยังต่ำให้รับประทานน้ำตาลซ้ำและเจาะเลือดอีกครั้ง ถ้าระดับน้ำตาลปกติให้ทานอาหารต่อ
    กรณีไม่รู้สึกตัว ให้นำส่งโรงพยาบาลทันที
    การฉีดกลูคากอน (Glucagon) ใช้ในผู้ที่มีระดับน้ำตาลต่ำแบบรุนแรง (severe hypoglycemia)
    การป้องกัน
    มีเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วที่บ้าน (self- monitoring blood glucose; SMBG)
    สถานการณ์เสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลต่ำ
    การเตรียมตัว งดน้ำ งดอาหารมาก่อนเจาะเลือด (fasting for tests)
    ระหว่างหรือหลังออกกำลังกายอย่างหนัก
    ระหว่างนอนหลับ

 
วัคซีนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
   
    ไข้หวัดใหญ่ ฉีดทุกปี (แนะนำช่วงเดือนพฤษภาคม ก่อนเข้าหน้าฝน 1 เดือน)
    แบคทีเรียนิวโมคอคคัส (invasive pneumonia) ฉีด 1-2 ครั้ง (pneumococcal 13 valent conjugate (pcv13) และ/หรือ Pneumococcal polysaccharide vaccine (PPSV23))
    *** อายุมากกว่า65 ปี แนะนำฉีด pcv13 และ PPSV23***
    ไวรัสตับอักเสบบี กรณียังไม่มีภูมิคุ้มกัน
    วัคซีนอื่นๆ เช่น บาดทะยัก, คอตีบ (dT) ทุก 10 ปี, งูสวัด (Zoster) 1 ครั้ง