ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: เยื่อแก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum)  (อ่าน 80 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 370
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: เยื่อแก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum)
« เมื่อ: วันที่ 5 พฤษภาคม 2024, 14:42:13 น. »
เยื่อแก้วหูทะลุ หมายถึง เยื่อแก้วหูเกิดรูทะลุ


สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ คือ หูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งพบบ่อยในเด็ก

บางรายอาจเกิดจากการบาดเจ็บ เช่น จากการแคะหู อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา ถูกกระแทกหรือตบตี หรือจากการเล่นพลุ ประทัด หรือเสียงจากระเบิด เป็นต้น

นอกจากนี้ อาจเกิดจากหูบาดเจ็บจากความกดดันอากาศ


อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการหูอื้อ หูตึง มีเสียงในหู ซึ่งเกิดขึ้นทันทีภายหลังได้รับบาดเจ็บ บางรายอาจมีอาการปวดในรูหู หรือมีเลือดไหลออกจากหู

ส่วนในรายที่เกิดจากหูชั้นกลางอักเสบ อาจมีไข้ ปวดหู หูอื้อ นำมาก่อน หลังจากนั้นจะมีหนองไหลออกจากหู บางรายอาจมีประวัติเป็นโรคเป็นหูน้ำหนวกเรื้อรัง มีอาการหูอื้อ หูตึง และมีหนองไหลออกจากหูแบบเรื้อรัง


ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ เป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ

ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจกลายเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา รวมทั้งทำให้หูหนวกสนิทได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย เป็นหลัก

สิ่งตรวจพบที่สำคัญ คือ การใช้เครื่องส่องหูตรวจดู พบเยื่อแก้วหูมีรูทะลุ

ในรายที่เกิดจากหูชั้นกลางอักเสบ แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเพาะเชื้อจากหนองที่ออกจากรูทะลุของเยื่อแก้วหู การค้นหาภาวะแทรกซ้อนในรายที่เป็นเรื้อรัง (เช่น การทดสอบการได้ยิน เอกซเรย์กระดูกมาสตอยด์ การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น)


การรักษาโดยแพทย์

1. ถ้าเกิดจากหูชั้นกลางอักเสบ แพทย์จะให้การดูแลแบบโรคหูชั้นกลางอักเสบ


2. ในรายที่เยื่อแก้วหูทะลุจากสาเหตุอื่น ถ้าเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูเล็ก แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะกินป้องกันการติดเชื้อ และแนะนำให้ผู้ป่วยระวังไม่ให้น้ำเข้าหู

แต่ถ้าเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูกว้าง หรือปิดเองไม่ได้ แพทย์จะทำการปลูกเยื่อแก้วหู (eardrum patch) โดยใช้สารเคมีจี้ที่ขอบรอยฉีกขาด กระตุ้นให้เซลล์เยื่อแก้วหูงอก แล้วปะบริเวณที่รอยฉีกขาดด้วยกระดาษแบบพิเศษ โดยมักต้องทำซ้ำหลายครั้งจนกว่ารูจะปิดสนิท

หากวิธีข้างต้นไม่ได้ผล หรือแพทย์พิจารณาว่ามีความจำเป็น ก็จะทำการผ่าตัดปะเยื่อแก้วหู (tympanoplasty) โดยนำเนื้อเยื่อส่วนอื่นในร่างกาย (เช่น หลอดเลือดดำ เยื่อพังผืดของกล้ามเนื้อ) มาปะรอบบริเวณรูทะลุบนเยื่อแก้วหู

ผลการรักษา ถ้าเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูขนาดเล็ก มักจะปิดได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือภายใน 3 เดือน สำหรับเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูกว้าง หากได้รับการผ่าตัดแก้ไขได้ทันการณ์ ก็จะหายได้เป็นปกติ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามมาแต่อย่างใด

การดูแลตนเอง

หากมีอาการหูอื้อที่เกิดขึ้นฉับพลันทันที หลังได้รับบาดเจ็บหรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู หรือมีอาการหูอื้อร่วมกับมีไข้ ปวดหู หูน้ำหนวกไหล ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นเยื่อแก้วหูทะลุ ควรดูแลตนเองดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    งดการลงเล่นน้ำ ดำน้ำ หรือว่ายน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง
    เวลาอาบน้ำ ใช้สำลีหรือวัสดุอุดรูหู ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู
    ไม่สั่งน้ำมูกแรง ๆ เพราะอาจทำให้เยื่อแก้วหูที่ทะลุเป็นรูหายช้า
    หลีกเลี่ยงการซื้อยาหยอดหูมาใช้เอง

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไข้ ปวดหู หรือหูน้ำหนวกไหล
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

1. หากเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้กลายเป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง

2. หลีกเลี่ยงการได้รับบาดเจ็บหรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู เช่น การแคะหู การเล่นพลุ ประทัด เป็นต้น


3. ป้องกันหูบาดเจ็บจากความกดดันอากาศ

    ขณะเป็นหวัด หูชั้นกลางอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงการนั่งเครื่องบินหรือดำน้ำลึก ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ในการใช้ยาป้องกัน แพทย์อาจให้ยาพ่นจมูกที่เข้ายาแก้คัดจมูก (decongestant) เข้าจมูกทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 4 ครั้ง หรือให้กินสูโดเอฟีดรีน ก่อนออกเดินทางหรือดำน้ำ 30-60 นาที (ถ้าเป็นการนั่งเครื่องบินเดินทางไกลควรกินก่อนเครื่องลง 30-60 นาที) ถ้าเป็นโรคหวัดภูมิแพ้ ก็จะให้กินยาแก้แพ้ก่อนออกเดินทางหรือดำน้ำ 30-60 นาที
    เวลานั่งเครื่องบิน ขณะเครื่องกำลังบินขึ้นหรือลง ควรทำท่าหาวและกลืนน้ำลาย หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง (สำหรับทารกและเด็กเล็ก ให้เด็กดื่มนมหรือน้ำโดยให้อยู่ในท่านั่ง ถ้าดูดจากหลอดได้ให้เด็กใช้หลอดดูด กระตุ้นให้มีการกลืนบ่อย ๆ) เพื่อกระตุ้นให้ท่อยูสเตเชียนเปิด
    เวลาดำน้ำลึกควรดำลงอย่างช้า ๆ เพื่อให้หูมีเวลาปรับตัว

ข้อแนะนำ

เยื่อแก้วหูทะลุอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือการบาดเจ็บที่บริเวณหู ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ไม่ปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงหรือหูพิการถาวรได้



หมอประจำบ้าน: เยื่อแก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com